หลักคิด ‘เก็บก่อนใช้’ โดย คุณหนู - ปาริชาติ แม่บ้านเงินล้าน

[ #PersonalFinance ] ทุกคนสามารถเก็บออมได้ ไม่ว่าเงินเดือนจะมากหรือน้อย How to ปูทางสู่ ‘เงินล้านแรก’ ของชีวิต ด้วยการยึดหลักคิด ‘เก็บก่อนใช้’ โดย คุณหนู - ปาริชาติ แม่บ้านเงินล้าน
.
ยากออมเงิน แต่รายได้น้อย หรือมีภาระเยอะ ไม่รู้จะเอาที่ไหนมาออม ปัญหาเหล่านี้คืออุปสรรคที่ทำให้หลายคนออมเงินไม่สำเร็จ แต่อย่าเพิ่งท้อไป ลองมาดูเรื่องราวของ “พี่หนู-ปาริชาติ พงษ์คำ” ผู้ที่ได้ฉายาว่า “แม่บ้านเงินล้าน” กัน 
.
เธอมีอาชีพเป็นพนักงานทำความสะอาด ประจำตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้ว่าจะมีรายได้เพียงแค่หลักหมื่นกว่าๆ แต่เธอก็วางแผนการเงิน หมั่นเก็บออมและลงทุน จนบรรลุความฝัน มีเงินล้าน ได้สำเร็จ
.
พี่หนูบอกว่าการมีเงินล้านไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ทุกคนก็มีเงินล้านได้ ขอแค่ตั้งใจและพยายามอย่างจริงจัง ไปดูกันว่าพี่หนูทำอย่างไร รับรองว่าอ่านจบแล้วต้องได้แรงบันดาลใจดีๆ แน่นอนครับ
.
[1.เก็บก่อนใช้ แม้เงินเดือนน้อย]
.
พี่หนูมีแนวคิดว่า เงินเดือนจะมากหรือน้อยไม่สำคัญ ทุกคนสามารถเก็บออมได้ถ้าตั้งใจจริง โดยต้อง "เก็บก่อนใช้"เพราะส่วนใหญ่ถ้าคนเรามีเงินอยู่กับตัว มักจะใช้โดยไม่คิดครับ
.
เธอจึงตั้งเป้าหมายเก็บเงินทุกเดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ เก็บออม และ ลงทุน
.
เริ่มที่สัดส่วนเก็บออม พอเงินเดือนออกปุ๊บ พี่หนูจะต้องฝากเงินอย่างน้อยเดือนละ 5,000 บาท

-แบ่งฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน
เดือนละ 3,000 บาท
สำหรับเงินเย็น และได้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากออมทรัพย์

-แบ่งฝากออมทรัพย์
เดือนละ 2,000 บาท
สำหรับเงินเผื่อใช้ฉุกเฉิน
.
ซึ่งเมื่อพี่หนูได้เงินเดือนมากขึ้น ประกอบกับเมื่อมาทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะได้รับคูปองอาหาร ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง และมีโบนัสเบี้ยขยันทุกเดือนอีกด้วย พี่หนูก็แบ่งเงินไปฝากเพิ่มขึ้น จากเดือนละ 5,000 เป็น 10,000 บาท
.
[2.ประหยัดทุกอย่างที่ทำได้]
.
พี่หนูใส่ใจกับเงินทุกบาท แม้เพียง 50 สตางค์ก็มีค่า เธอจะบันทึกรายรับ-รายจ่ายโดยละเอียด และซื้อของใช้จำเป็นจากห้างค้าปลีกเพียงเดือนละครั้ง เพราะราคาถูกและช่วยควบคุมค่าใช้จ่าย พี่หนูเลือกที่พักราคาถูกใกล้ที่ทำงาน สามารถเดินมาทำงานได้เลย จึงประหยัดค่าเดินทางไปได้อีก ด้วยวินัยและการวางแผนที่ดี ทำให้พี่หนูไม่เคยมีปัญหาขัดสนเงินทองเลย
.
นอกจากส่งเงินให้พ่อแม่แล้ว พี่หนูก็แทบไม่ใช้เงินเพื่อตัวเอง โดยมุ่งเก็บออม อดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพื่อจะได้มีเงินไว้ใช้ในอนาคตครับ
.
[3.ใฝ่หาความรู้ทางการเงินอยู่เสมอ]
.
ด้วยความที่เป็นแม่บ้านอยู่ที่ห้องสมุดมารวย ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ได้คลุกคลีอยู่กับหนังสือการเงิน-การลงทุน ซึ่งพี่หนูขวนขวายศึกษาด้วยตัวเอง อ่านหนังสือต่างๆ เข้าร่วมฟังงานสัมมนา และสอบถามคนในบริษัทเกี่ยวกับวิธีทำให้เงินงอกเงย ซึ่งพี่หนูก็ได้รับคำแนะนำให้เริ่มต้นลงทุนใน กองทุนรวม
.
แอบกระซิบว่าหนังสือที่พี่หนูแนะนำ ซึ่งช่วยให้เธอวางแผนการเงิน และมีเงินล้านได้สำเร็จคือ “มีเงินล้าน ด้วยการวางแผนการเงิน” โดย คุณนิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ และต่อมาก็อ่านหนังสือ “เขาเก็บเงินกันอย่างไรได้ 10 ล้าน” โดย คุณอมิตา อริยอัชฌา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเงินล้านต่อไปด้วยครับ
.
[4.ลงทุนควบคู่กันไปด้วย]
.
การฝากธนาคารได้ผลตอบแทนน้อย พี่หนูจึงลงทุนควบคู่กันไปด้วย โดยซื้อกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนราว 5-6% ต่อปี ในช่วงแรกก็ลงทุนด้วยเงินก้อน แต่ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีถัวเฉลี่ย (DCA) เดือนละ 5,000 บาท เพื่อเน้นการลงทุนระยะยาว
.
พี่หนูมีเวลาลงทุนเยอะ รับความเสี่ยงได้สูง จึงเน้นที่ไปกองทุนรวมหุ้น ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีกองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อลดความผันผวนในพอร์ต นอกจากนี้พี่หนูก็หาข้อมูลการลงทุนทองคำ ระหว่างโกลด์ฟิวเจอร์ (Gold Futures) และทองคำแท่งอีกด้วย
.
ซึ่งพี่หนูบอกว่า ใครก็ลงทุนในกองทุนรวมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ ทยอยลงทุนแค่เดือนละ 1,000-2,000 ก็ได้ ขอแค่มีวินัยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
.
ด้วยการออมและลงทุนที่กล่าวมา ทำให้พี่หนูมีเงินล้านได้ภายในเวลา 17 ปี ซึ่งทุกวันนี้เธอยังคงมีวินัยทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ เป้าหมายต่อไปอยู่ที่การเกษียณในวัย 55 ปี และมีเงินออมอย่างน้อย 5 ล้านบาท
.
aomMONEY คิดว่าเรื่องราวของพี่หนู น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน หันมาวางแผนการเงิน มุ่งเก็บออม และลงทุนกันนะครับ อย่างที่พี่หนูบอกเลยว่า “ทุกคนมีเงินล้านได้ไม่ยาก ขอแค่มีวินัยและความพยายาม” 
.
[ อ้างอิงในคอมเมนต์ ] 
.
Credit : aomMONEY

Related stories

การบริหาร "เงินให้งอกเงย" สู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

9 ตัวดูดพลังงานชีวิตของคนทำงาน

เลือกประกันชีวิตแบบไหนดี